ชีวิตเสี่ยง...บนถนนเมืองกรุง - Tonodthong บล๊อกคนบ้า

Latest

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ชีวิตเสี่ยง...บนถนนเมืองกรุง


ชีวิตเสี่ยง...บนถนนเมืองกรุง

ชีวิตเสี่ยง...บนถนนเมืองกรุง : ทีมข่าวรายงานพิเศษ



              ข่าวคนเมืองที่ใช้บริการ "แท็กซี่" ถูกคุกคามชีวิตและทรัพย์สินโดยการกระทำของ "คนขับ" ถูกผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าหลายฝ่ายพยายาม "ล้อมคอก" ทว่าไม่นานฝันร้ายก็ย้อนกลับมาหลอกหลอนผู้ใช้บริการอีกจนได้

              ถึงจุดนี้ใช่จะกล่าวร้าย "โชเฟอร์แท็กซี่" เพราะเข้าใจดีถึงหัวอกคนทำมาหากินเยี่ยงสุจริตชน อีกทั้งการขับแท็กซี่ คือ สัมมาอาชีพอีกสาขาหนึ่ง อาจมี "คนไม่ดี" เพียงบางส่วน แฝงตัวเข้ามาฉกฉวยประโยชน์ จนกลาย "ภัยสังคม" ที่ไม่ควรมองข้าม

              น.ส.พัทธ์ธีรา กาฬภักดี อายุ 26 ปี พนักงานรัฐแห่งหนึ่ง สะท้อนว่า ใช้บริการแท็กซี่เฉพาะกลางวัน ส่วนกลางคืนไม่กล้า เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย อีกประเด็นที่ไม่เคยแก้ได้ คือ แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร หรือพวกแท็กซี่มาเฟีย เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวด เช่น ย่านจตุจักร หมอชิต สายใต้ และแหล่งชุมชนเมือง

              เช่นเดียวกับ นางสุรัสวดี พาณิช สาวออฟฟิศย่านสยามสแควร์ วัย 34 ปี บอกว่า ปกติจะใช้บริการแท็กซี่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง พอมีข่าวชิงทรัพย์ หรือข่มขืน รู้สึกกลัวแท็กซี่ ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ใช้บริการตอนกลางคืน

              ส่วนการระวังตัวเบื้องต้น น.ส.ชนกพร แก่นสวาท นักศึกษาปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แนะนำว่า หากจำเป็นต้องนั่งแท็กซี่ จะเรียกรถจากศูนย์ พร้อมทั้งโทรบอกคนที่บ้านว่าเกี่ยวกับรายละเอียดของ รถ สี ทะเบียน และชื่อคนขับ

              ทว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายจะมีสักกี่คนที่รอดมาได้ น.ส.ปัทมา แดงแสม พนักงานโรงแรมวัย 26 ปี เล่าว่า เคยประสบเหตุกับตัวเอง ไม่ใช่แท็กซี่ แต่เป็นรถตู้สาธารณะ เคราะห์ดีโทรศัพท์มือถือช่วยให้รอดพ้นมาได้

              "รู้สึกกลัวแท็กซี่ จึงนั่งรถตู้ แต่กลับถูกคนขับรถตู้ลวนลาม วันนั้นตกใจมาก พยายามตั้งสติหาทางออกจากรถ พูดถ่วงเวลา เสนอทรัพย์สินให้ ทั้งไอโฟน และไอแพด ระหว่างนั้นอาศัยจังหวะที่คนร้ายเผลอกดเบอร์โทรแบบอัตโนมัติหาแฟนหนุ่ม เขารู้ว่าเราตกอยู่ในอันตรายจึงแจ้งตำรวจทันที" น.ส.ปัทมาเล่านาทีวิกฤติ

              ใครจะรู้ว่าทุกครั้งที่มีข่าวร้ายเกี่ยวกับแท็กซี่พวกเขาทุกข์ใจแค่ไหน นายสุวรรณ จันตะเพียร โชเฟอร์วัย 60 ปี ยอมรับว่า ไม่อยากให้ผู้โดยสารกลัว ไม่กล้าขึ้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน เพราะคนขับหลายหมื่นคน มีเพียงไม่กี่คนที่ทำไม่ดี ถ้าจะให้ปลอดภัยให้เลือกใช้รถ ดูคนขับ คนที่ขับรถมานานทำเป็นอาชีพส่งลูกเต้าเรียน เลี้ยงครอบครัว จะไม่ทำลายอาชีพตัวเอง คนขับดีๆ ก็มีเยอะกว่าคนที่ไม่ดี แต่แท็กซี่ก็ถูกทำร้าย ถูกจี้ปล้น มีใครเห็นใจบ้าง

              นายมานะ คงผาสุข อายุ 53 ปี ขับรถแท็กซี่มากว่า 4 ปี ระบุว่า พอมีข่าวแท็กซี่ทำร้ายผู้โดยสาร หรือกระทำมิดีมิร้ายกับผู้โดยสารหญิง แรกๆ คนจะกลัว ไม่กล้าขึ้นแท็กซี่ พอผ่านไปสักระยะก็กลับมาขึ้นเหมือนเดิม คือ ผู้โดยสารจะกลัวๆ กล้าๆ บางครั้งจะใช้วิธีชะโงกหน้ามามองคนขับรถก่อน แล้วจึงโบกอาการลักษณะนี้จะพบกับผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิง ที่ต้องเรียกรถในช่วงเย็น หรือกลางคืน

              "บอกผู้โดยสารว่าให้แยกแยะว่ามีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่ยึดอาชีพขับรถแท็กซี่จริงๆ จะไม่ทุบหม้อข้าวตัวเอง พยายามบอกให้เลือกสีรถ หน้าตาคนขับ หรือสหกรณ์ที่มีการดูแลเข้มงวดในเรื่องการแต่งกาย ปัญหา คือ คนไม่ดีมาขับรถสาธารณะได้ยังไง เพราะอู่แท็กซี่บางแห่งไม่รัดกุม ต้องการแค่เงิน เลยปล่อยให้คนที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเข้ามาขับได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกะกลางคืน ตอนนี้แท็กซี่มีจำนวนเยอะ รถว่างมากมาย หาคนขับยาก เมื่อมีคนมาขอขับอู่ก็รับไว้ทันที ฉะนั้นตำรวจต้องเข้มงวดรถแท็กซี่ช่วงกลางคืนให้มากกว่านี้" นายมานะอธิบาย

              นายกฤษณะ รัตนะธงทอง ยึดอาชีพขับแท็กซี่ตั้งแต่อายุ 27 ปี จนปัจจุบันอายุ 55 ปี กล่าวว่า คนที่ก่อเหตุส่วนใหญ่ไม่ได้ขับแท็กซี่เป็นอาชีพ เป็นพวกสมัครเล่น หรือขับบังหน้า

              "ใครจะทุบหม้อข้าวตัวเอง ผมขับมาไม่รู้กี่อู่แล้ว รายได้ก็น้อย ไม่แน่นอน ค่าเช่าวันละ 630 บาทต่อกะ ค่าก๊าซวันละ 200 กว่าบาท ค่าล้างรถ 30 บาท บวกค่าข้าว รวมต้นทุนวันละ 900 บาท อย่างวันก่อนหาได้ 1,100 บาทเท่านั้น เหลือเงินเข้าบ้านแค่ 200 บาท ส่วนผู้โดยสารผู้หญิงบอกว่า กลัวคนขับ ผมก็อยากจะบอกว่า กลัวผู้โดยสารเหมือนกัน กลางคืนคนที่โบกรถในที่มืด ไปในที่เปลี่ยว จะไม่ไปเด็ดขาด เพราะเคยถูกจี้มาแล้วหลายครั้ง ถูกเบี้ยวเงินค่ารถ 2-3 ครั้ง" นายกฤษณะย้ำ

              คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจแค่เอกสารไม่กี่แผ่นและใบขับขี่ไม่สามารถการันตีได้ว่า บุคคลนั้น "ดี หรือ เลว" นางสำรวย ภูมิภาส เจ้าของอู่แท็กซี่ในซอยแบริ่ง หรือ "อู่เจ๊ไข่" กล่าวว่า จะเข้มงวดเรื่องใบขับขี่สาธารณะและบัตรติดหน้ารถ เพราะกรมการขนส่งทางบก กำชับมาเป็นพิเศษ

              นางกรรณิการ์ นาคดี เจ้าของอู่รถแท็กซี่ย่านเทพารักษ์ บอกว่า ถ้าเห็นพฤติกรรมคนขับไม่ดี จะให้เลิกขับที่อู่ อย่างไรก็ตาม อยากให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดกวดขันให้คนขับรถแท็กซี่ที่ไม่ดีไม่มีโอกาสหรือช่อง ทางทำผิดได้ ในอดีตยังเคยมีคนขับที่นำรถของอู่ไปทำความผิด ขนสิ่งผิดกฎหมาย จนเดือดร้อนมาแล้ว

              ในเมื่อระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสารไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ คำถามคือ จะมีมาตรการอะไรเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินย์ของคนในสังคมอย่างไร พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรถแท็กซี่มีมากและเกิดต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นการโกงค่าโดยสาร ด้วยพฤติการณ์ที่ขับรถอ้อมออกนอกเส้นทาง หรือเฉไฉไม่กดมิเตอร์ แต่คิดราคาเหมาแทนการขโมยเอาทรัพย์สินของผู้โดยสารทั้งเจตนาและไม่เจตนา

              "อย่างการหลอกผู้โดยสารลงรถแล้วเร่งเครื่องขับรถไป โดยมีทรัพย์สินของผู้โดยสารอยู่บนรถ และการจี้บังคับชิงเอาทรัพย์สิน โดยรวมบรรดาแท็กซี่โจรก็หมายปองเอาทรัพย์สินทั้งนั้น ถ้าเหยื่อเป็นหญิงสาวก็อาจถูกลวนลามทำอนาจาร หรือข่มขืนเป็นผลพวงตามมา อย่างหลังผู้เสียหายไม่กล้าร้องทุกข์แจ้งความเอาเรื่อง ก็มีเยอะ เหตุเพราะไม่กล้ากลัวอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อขึ้นแท็กซี่ควรนั่งที่เบาะหลังตรงคนขับ ถือเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุด เพราะคนขับจะเข้าประชิด หรือเอื้อมมาทำอะไรเราได้ลำบาก" พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลีกล่าว

              พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการฝ่ายงานป้องกันและปราบปรามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานกับกลุ่มสมาพันธ์แท็กซี่ สหกรณ์แท็กซี่ และอู่แท็กซี่ต่างๆ ตรวจสอบประวัติคนขับอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบจีพีเอส ติดตามรถแท็กซี่ มาใช้เพื่อความสบายใจของประชาชน

              ขณะที่ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบายว่า ทุกคนที่มาทำใบขับขี่สาธารณะจะถูกตรวจสอบประวัติข้อมูลอาชญากรรม โดยส่งชื่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบประวัติ ก่อนส่งเรื่องกลับมาที่กรมการขนส่งทางบก ว่าบุคลคนนี้มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ หรือยังพ้นโทษไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (ภายใน 1 ปี) นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกกำลังขอเชื่อมข้อมูลเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ต้องหารือกันอีกครั้งว่ากรมการขนส่งทางบกจะเข้าถึงชั้นความลับของ ประวัติได้มากน้อยเพียงใด

              "พูดถึงการเพิกถอนใบอนุญาตใบขับขี่ หากคดีถึงที่สุดและศาลมีคำสั่ง เราจะเพิกถอนใบขับขี่ หากคนขับแท็กซี่มีคดีปล้น ชิง ทรัพย์ผู้โดยสาร ต้องมีคำสั่งศาล หรือเจ้าตัวยอมรับสารภาพ ตำรวจจะส่งข้อมูลไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราก็เพิกถอนใบขับขี่ได้ทันที" นายสมชัยกล่าว

              เหล่านี้เป็นเพียงมาตรการระวังเบื้องต้น... แต่การแก้ปัญหาระยะยาวนั้น "สังคม" ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา "ระวังภัย" ให้กันและกัน
ข้อปฏิบัติขณะขึ้นแท็กซี่ฉบับ สตช.
              1.ควรแต่งกายให้รัดกุม ไม่โป๊ ไม่หวิว ไม่สั้นเกินไป

              2.จดและจำหมายเลขทะเบียนรถ สี ยี่ห้อ และชื่อ-นามสกุล คนขับ

              3.สังเกตใบอนุญาตขับขี่ตรงกับคนขับหรือไม่

              4.ถ้าขึ้นรถคนเดียวต้องนั่งอยู่ด้านหลังคนขับเท่านั้น

              5.โทรบอกญาติหรือเพื่อนถึงรายละเอียดในข้อ 2 และเวลาเดินทาง

              6.อย่าหลับเด็ดขาด

              7.ไม่จำเป็นอย่าพูดคุยกับคนขับ

              8.สังเกตเส้นทางตลอด

              9.ให้คนขับให้ปลดล็อกประตู

              10.เรียกแท็กซี่จากศูนย์ ปลอดภัยกว่า

              11.ถ้าเกิดเหตุร้ายอย่าต่อสู้

              12. ถ้ารู้สึกวิงเวียน หรือง่วงผิดปกติ อาจถูกมอมยา ให้รีบลงจากรถ

              13. อย่ารับอาหาร หรือเครื่องดื่มจากคนขับ

              14.มีเหตุด่วนเหตุร้ายแจ้ง 1584, 191

              15.ถ้าต้องหนีให้ออกประตูซ้าย

                ที่มา   คม ชัด ลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น