วันเข้าพรรษา - Tonodthong บล๊อกคนบ้า

Latest

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทนั้นจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยจะไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือเรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" ซึ่งแปลว่า ฤดูฝน, "จำ" ซึ่งแปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษาถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม และการเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (เดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ในวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือว่าเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษานั้นเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีในปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษานั้นมาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น และมีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาหรือโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อจะศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย  สำหรับในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยนั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ จะมีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีตนั้น ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

สารบัญ 

  1. ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา
  2. มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำแนกพรรษาแก่พระสงฆ์ 
  3. ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ 
  4. ข้อยกเว้นในการจำพรรษาของพระสงฆ์ 
  5. การเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ในปัจจุบัน 
  6. การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษาในปัจจุบัน 
  7. ประเพณีการเข้าพรรษาในประเทศไทย
  8. ประวัติวันเข้าพรรษา

ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา
  1. ในช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นแล้วการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้าหรือจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
  2. หลังจากที่เดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นระยะเวลา 8 - 9 เดือน ในช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์นั้นได้หยุดพักผ่อน
  3. เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และเป็นช่วงเวลาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้ประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
  4. เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการอบรมสั่งสอนและบวชให้กุลบุตรผู้ที่มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกต่อไป
  5. เพื่อเป็นการให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสในการบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น ทำบุญตักบาตร การหล่อเทียนพรรษา การถวายผ้าอาบน้ำฝน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดช่วงเวลาเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา
มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำแนกพรรษาแก่พระสงฆ์ 
ในช่วงสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องของการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกนั้นปฏิบัติกันมาโดยเป็นปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรอันจะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่ในฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมนั้นจะมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลนั้นจะมีจำนวนที่น้อยและส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระอริยะบุคคล ฉะนั้นแล้วจึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ และต่อจากนั้นเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น ด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติในเรื่องที่ให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย จึงจะทำให้เกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์นั้นพากันออกเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในช่วงฤดูหนาว ช่วงฤดูร้อน และช่วงฤดูฝน จึงทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้กระทั่งในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่นๆ นั้นพากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน และการที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้กระทั่งในฤดูฝน อาจจะเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านและทำให้ได้รับความเสียหาย หรืออาจจะไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกไปหากิน ไปจนถึงแก่ความตาย และเมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง ท่านจึงได้วางระเบียบให้ภิกษุนั้นประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์

การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ปุริมพรรษา (หรือที่เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก นั้นเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (แต่ปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน นั้นจะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่ออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิจะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  2. ปัจฉิมพรรษา  เป็นการเข้าพรรษาหลัง ซึ่งใช้ในกรณีที่พระภิกษุนั้นจะต้องเดินทางไกลหรืออาจจะมีเหตุสุดวิสัย จึงทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน จึงต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจึงไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งจะเป็นวันหมดเขตของการทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสจะได้รับกฐิน แต่ก็จะได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษา

ข้อยกเว้นในการจำพรรษาของพระสงฆ์


วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา
แม้การเข้าพรรษานี้จะถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ซึ่งจะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์นั้นในระหว่างพรรษา อาจจะมีกรณีจำเป็นบางอย่าง จึงทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษานั้นต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อจะไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยจะไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยจะมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้อยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้จะต้องกลับมาภายในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และการออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุไว้ว่าจะออกจากที่จำพรรษาได้ชั่วคราวนั้นเช่น
  1. การไปรักษาพยาบาล หรือหาอาหารให้กับภิกษุหรือบิดามารดาที่กำลังเจ็บป่วย เป็นต้น แต่ในกรณีนี้จะทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดาเท่านั้น
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากสึกมิให้สึกได้ และในกรณีนี้จะทำได้กับสหธรรมิก 5
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การที่ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุด
  4. หากทายกนิมนต์ให้ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน ฟังเทศนาธรรม รับศีลได้ แต่กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็ไปค้างไม่ได้
หากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนดช่วงระยะเวลา 7 วันตามพระวินัย ก็จะถือว่า ขาดพรรษา ซึ่งเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ไม่สามารถทำได้)
แต่ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและได้กลับมาตามกำหนดแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องได้ และถ้าหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็จะสามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่จะต้องกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อที่ไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังที่ได้กล่าวแล้ว

การเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ในปัจจุบัน

การเข้าจำพรรษาคือการตั้งใจเพื่อจะอยู่จำ ณ อาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งและเป็นประจำตลอดพรรษา 3 เดือน ดังนั้นก่อนจะเข้าจำพรรษาพระสงฆ์ในวัดก็จะเตรียมตัวโดยซ่อมแซมเสนาสนะปัดกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อยก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา  เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ส่วนใหญ่แล้วพระสงฆ์จะประกอบพิธีอธิษฐานจำพรรษาหลังการสวดมนต์ทำวัตรเย็นเป็นพิธีเฉพาะของพระสงฆ์ และส่วนใหญ่จะลงประกอบพิธี ณ อุโบสถ หรือในสถานที่ใดตามจะสมควรภายในอาวาสที่จะจำพรรษา โดยเมื่อทำวัตรเย็นประจำวันเสร็จแล้วเจ้าอาวาสก็จะประกาศเรื่องวัสสูปนายิกา คือกำหนดบอกให้พระสงฆ์ทั้งปวงนั้นรู้ถึงข้อกำหนดในการเข้าพรรษา โดยจะมีสาระสำคัญดังนี้
  1. แจ้งให้ทราบเรื่องการเข้าจำพรรษาแก่พระสงฆ์ในอาราม
  2. แสดงเนื้อหาและความเป็นมาของวัสสูปนายิกาตามพระวินัยปิฎก
  3. กำหนดบอกอาณาเขตวัด ที่พระสงฆ์นั้นจะรักษาพรรษาหรือรักษาอรุณให้ชัดเจน
  4. ถ้าหากมีภิกษุผู้เป็นเสนาสนคาหาปกะ ก็ให้ทำการสมมุติเสนาสนคาหาปกะ (หรือเจ้าหน้าที่สงฆ์) เป็นผู้กำหนดให้พระสงฆ์รูปใดจำพรรษา ณ สถานที่ใด
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา

การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษาในปัจจุบัน

ปัจจุบันการศึกษาพระธรรมวินัยในช่วงของการเข้าพรรษาในประเทศไทยนั้นก็ยังจัดเป็นกิจสำคัญของพระสงฆ์ที่อุปสมบททุกรูป แม้ว่าจะอุปสมบทเพียงเข้าพรรษา 3 เดือน ก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม ปัจจุบันพระธรรมวินัยจะจัดเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ในหลักสูตร พระธรรม ซึ่งเรียกว่า ธรรมวิภาค พระวินัย ซึ่งเรียกว่า วินัยมุข และรวมเรียกว่า "นักธรรม" ชั้นต่าง ๆ โดยมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมช่วงออกพรรษา เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง ช่วงวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11

ประเพณีการเข้าพรรษาในประเทศไทย

ในประเทศไทยนั้นมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยเป็นเวลามาช้านาน ดังปรากฏประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษา แก่พระสงฆ์เพื่อจะจุดบูชาตามอารามและเพื่อถวายให้แก่พระสงฆ์สามเณรนำไปจุดเพื่ออ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างที่เข้าจำพรรษา ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อจะให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน เป็นต้น

วันเข้าพรรษา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น