SCB EP.3 หนึ่งเดียวในอาเซียน! ผู้พิชิตไฟไหม้ตึกระฟ้า - Tonodthong บล๊อกคนบ้า

Latest

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

SCB EP.3 หนึ่งเดียวในอาเซียน! ผู้พิชิตไฟไหม้ตึกระฟ้า


เดินทางมาถึงตอนที่ 3 แล้ว สำหรับ สกู๊ปซีรีส์ "ต่อจิ๊กซอว์เพลิง SCB" สำหรับตอนนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้เดินทางมาถึงสถานีดับเพลิงสามเสน เพื่อชมกับอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยดับไฟที่ตึกสุดหรู ธ.ไทยพาณิชย์ โดยเกิดเหตุบริเวณชั้น 10 ซึ่งเมื่อเขามาถึงก็สามารถพิชิตเพลิงที่โหมกระหน่ำลงได้อย่างราบคาบ 
ใช่แล้ว รถดังกล่าวคือรถกระเช้าดับเพลิง แต่คุณรู้หรือไม่รถกระเช้าที่ใช้วันนั้น ไม่ใช่รถกระเช้าธรรมดา เพราะเป็น "รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง" คันที่สูงที่สุดในอาเซียน และมีคันเดียวในประเทศไทย โดยหากยืดแขนกระเช้าเต็มที่ จะมีความสูงกว่า 90 เมตร!
อุปกรณ์สำคัญที่ช่วยดับไฟ
ภาพความเสียหายที่ตึก SCB
รถกระเช้ารับมือเพลิงไหม่ตึกระฟ้า ยืดสูงสุดได้ 30 ชั้น 
นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง หัวหน้าสถานีดับเพลิงสามเสน เล่าที่มาที่ไปของรถกระเช้าคันนี้ว่า ชื่อของรถคันนี้ ตามราชการเรียก "รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง" มีความสูงประมาณ 90 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ดับเพลิงในอาคารสูง ขนาด 30 ชั้นลงมา ถ้าสูงมากกว่านี้ก็คงเอาไม่อยู่ อย่างไรก็ดี รถกระเช้าที่สูงขนาดนี้ นับว่ามีคันเดียวในประเทศไทย และเรียกว่าสูงที่สุดในอาเซียน ส่วนในเอเชียนั้น เรายังไม่กล้าเรียกขนาดนั้น เพราะญี่ปุ่น เกาหลี เขาอาจจะมีสูงกว่าเรา โดยรถดังกล่าวอยู่ในสังกัด สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม. แม้แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ไม่มีใช้ เพราะเขาไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดนั้น
นายพัลลภ เล่าต่อว่า ได้นำรถกระเช้าหอน้ำดับเพลิงมาจากประเทศฟินแลนด์ ส่วนเครื่องยนต์เป็นของเบนซ์ ส่วนประกอบมาจากหลากหลาย แต่ถ้าจะให้สัญชาติ ก็เป็นของฟินแลนด์ เริ่มประจำการเมื่อปี 2552 จากนั้นก็ถูกส่งมาที่สถานีสามเสน แม้เขตสามเสนจะเป็นพื้นที่ควบคุมอาคารสูง แต่เนื่องจากมีพื้นที่ 7 ไร่ มีโรงจอดรถที่สามารถกันแดด ฝนได้ ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการเก็บรักษา
เหตุเกิดที่อาคารฟิโก้
"รถประเภทนี้จะจอดรถตากแดดไม่ได้ เพราะมีอะไหล่บางส่วนเป็นยาง อุปกรณ์บางอย่างก็อ่อนไหวมาก เช่น สายไฮโดรลิก ต้องเก็บรักษาให้ดี อย่างไรก็ดี การใช้งานรถคันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานสนับสนุนมากกว่า เพราะพื้นที่เราไม่มีตึกสูง"
ไม้ตายสุดท้าย! หากไฟไหม้ที่สูงแล้วนักผจญเพลิงเข้าตึกไม่ได้ 
ส่วนการฝึกช่วยคนในที่สูงนั้น หัวหน้าสถานีดับเพลิงสามเสน กล่าวว่า ที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้รถกระเช้าคันนี้เลย หากเจ้าหน้าที่เข้าตึกได้ รถคันนี้ส่วนใหญ่ใช้เพื่อระงับเหตุ แสงเพลิง กลุ่มควัน ในที่สูง โดยเทคนิคการช่วยเหตุเพลิงไหม้ในที่สูง เราต้องมีทีมผจญเพลิงที่เข้มแข็ง หมายความว่า น้องๆ ดับเพลิง หรืออาสาฯ ที่คอยสนับสนุนทุกหน้างาน ต้องเรียนรู้วิธีการเข้าอาคารที่มีแสงเพลิง ดังนั้น การฝึกเป็นสิ่งสำคัญ SCBA หน้ากาก ถังออกซิเจน ชุดทนความร้อน ได้ 400 องศาฯ ไม่ใช่ชุดกันไฟ เพราะจุดไฟก็ติด แต่ใช้เพื่อลดความร้อน ดังนั้น หลักการที่ดีที่สุด ของเหตุเพลิงไหม้ในที่สูง ระบบน้ำในอาคารต้องดีเยี่ยม เพราะการสร้างอาคารมาระดับพันล้าน หรือหมื่นล้าน ระบบสปริงเกอร์ ไฟปั๊ม สายโฮสรีม สายโฮสแรค ต้องทำงานได้ เจ้าหน้าที่ประจำอาคารต้องได้รับการฝึกมา เกิดเหตุเบื้องต้น ต้องเข้าระงับเหตุก่อน หากเกิดเหตุ เปิดระบบน้ำในอาคาร ใช้สายดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน ความยาว 2 ข้าง ข้างละ 20 เมตร บวกกับถังดับเพลิง เชื่อว่าจะสามารถช่วยระงับเหตุได้
หนึ่งเดียวในประเทศไทย
แต่ถ้าลุกลามจนเจ้าหน้าที่ตึกเอาไม่อยู่ ก็จะเป็นหน้าที่ของนักดับเพลิง และเจ้าหน้าที่อาสาฯ คนกลุ่มนี้จะถูกฝึกมาให้แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา เนื่องจากเวลาเกิดเหตุ ลิฟต์จะถูกตัด ไม่ใช้งาน แต่ถ้าตามกฎหมายกำหนดต้องมีทางหนีไฟ และไฟล์แมนลิฟต์ ประตูเปิดปิด ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
"ค่าบำรุงรักษาไม่มีปัญหาอะไรจุกจิก เพราะมีการดูแลรักษาอย่างดี แต่ถ้าครบวาระ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เกียร์ เบรก แต่รถคันนี้ จะมีมากกว่านั้น คือ น้ำมันไฮโดรลิก หากมีการถ่ายน้ำมันรอบคันจริงๆ ก็ต้องใช้เงินประมาณหลักล้านบาท" นายพัลลภ กล่าวและว่า หลังจากนำไปใช้งานที่ตึก SCB วันนั้น วันนี้ก็ต้องนำมาซ่อมแซม เนื่องจากได้ใช้งานอย่างหนัก เกินเวลาที่กำหนด ทำให้ตัวรถเริ่มมีปัญหา จึงต้องมาเช็กสภาพรถ ถึงตอนนี้หมดระยะประกัน 2 ปีแล้ว เนื่องจากรถได้มาประจำการตั้งแต่ปี52 แต่ถึงอย่างไรเวลามีปัญหา คนที่คุมรถเขาจะรู้ เช่น มีไฟขึ้นที่แผงหน้าจอ กระเช้าเริ่มรวน แขนกระเช้าเริ่มล้า เพราะเขาต้องยกแขนกระเช้าขึ้น 3 ท่อน ท่อนละ 90 เมตร เราก็ต้องมาหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยประสานกับบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย ซึ่งได้นำรถนี้เข้ามา ช่วยดูแลรักษารถ
พัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง เล่าเรื่องรถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง
ยันถึงที่เกิดเหตุในครึ่งชั่วโมง การใช้งานไม่ง่าย ฐานจอดต้องแน่น ควรมีพื้นที่ 8 เมตร
นายพัลลภ ยังกล่าวถึงกรณี สื่อบางฉบับรายงานว่า รถคันนี้เข้าระงับเหตุ ไฟไหม้ตึก SCB ช้ามาก ว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่า ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง รถคันนี้มีความยาวจากหัวไปท้ายประมาณ 16 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ความสูงในขณะที่พับเก็บ ประมาณ 4 เมตร เราดูแล้วระยะยาวมาก หากเป็นซอยแคบคงเข้าลำบาก แต่วันนั้นขอยืนยันว่าเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง
ตอนแรก ผู้บังคับบัญชา จะให้รถจากพญาไท แต่จากการประเมินความสูงรถของเขาประมาณแค่ 100 ฟุต คาดว่าไม่เพียงพอ จึงสั่งการมาที่สามเสน ซึ่งอุปสรรคสำคัญของรถคันนี้ คือรถใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีพ้นที่ในการกางแขนแจ็ก ข้างละ 4 เมตร ดังนั้น พื้นที่ทำงาน ที่ต้องใช้อย่างน้อย 8 เมตร พื้นที่ตั้งต้องมั่นคงแข็งแรง เป็นดินโคลน ที่ชุ่มน้ำไม่ได้ เพราะรถหนัก 5.5 หมื่นกิโลกรัม หรือ 55 ตัน ถ้าจมหรือคว่ำไป จะกู้ลำบาก
"ที่จริงน้องที่เข้าเวรอยู่เขาจะรู้ เพราะเคยสั่งการไว้ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินให้เตรียมรถไว้เลย และจากที่นั่งฟังวิทยุ แม้จะเกิดเหตุที่ชั้น 10 แต่โดยเซนต์ของเด็กคิดว่า ยังไงต้องออกแน่ จึงได้เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม จากนั้นเมื่อคำสั่งลงมาก็ออกเดินทางทันที ผมสั่งไว้ตลอดว่ารับแจ้งวิทยุสื่อสารเมื่อไร ให้ใส่ชุด เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ใช้ หรือ ไม่ใช้ เป็นเรื่องของเจ้านาย แต่เมื่อมีคำสั่งเมื่อไร ล้อต้องหมุนทันที แต่อาจจะไปเร็วมากไม่ได้ เนื่องจากรถใหญ่ ช่วงยาว ปกติวิ่งได้ประมาณ 40-50 กม./ชม. เร็วสุดน่าจะได้สัก 80 กม./ชม."
หัวฉีดดับเพลิง ที่มีแรงดันน้ำสูง
แรงฉีดน้ำพุ่งแรง ย้ำบ่อยๆ ทำให้กระจกแตกได้ 
หัวหน้าสถานีดับเพลิงสามเสน กล่าวต่อว่า รถคันนี้จะมีหัวฉีดที่ตั้งบนกระเช้า โดยจะมีท่อน้ำในตัว หากมีการฉีดกระแทกซ้ำไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให่กระจกแตกได้ แต่ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะความร้อน จึงทำให้กระจกแตก การฉีดเราก็ต้องทิ้งระยะประมาณ 30-50 เมตรได้ เพราะเผื่อกระจกแตก แล้วไฟพุ่งออกมา เจ้าหน้าที่ก็ต้องใส่เครื่องป้องกันด้วย ตัวกระเช้าเองสามารถประชิดกระจกก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องประเมินว่า ไหม้มานานหรือยัง อีกทั้งอาคารปิดทึบโอกาสที่ความร้อนสะสมจนเกิดการสันดาป แล้วระเบิดออกมาก็มีสูง บางทีก็ต้องเซฟตัวเอง เวลาฉีด ต้องฉีดจากระยะไกล ถ้าลดความร้อนได้แล้ว โอกาสระเบิดก็น้อยลง ซึ่งรถกระเช้าคันนี้นับว่ามีส่วนช่วยในการดับเพลิงครั้งนั้น ที่สำคัญ ตึกเขาก็ค่อนข้างดี สปริงเกอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา
รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง จำเป็นต้องใช้เวลาไฟไหม้ตึกสูง
ลุยงานใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง สั่งซื้อเพิ่มอีก 3 - คันละ 160 ล้าน!
นายพัลลภ กล่าวทิ้งท้ายว่า รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิงตัวนี้ เคยใช้งานมาแล้ว 2 ครั้ง รวมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 สำหรับ 2 ครั้งก่อน คือ เหตุไฟไหม้ คอนโดมิเนียม เลอ รัฟฟิเน่ ย่านสุขุมวิท 24 เมื่อปี 2554 โดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่ชั้น 18 ส่วนครั้งที่ 2 ได้แก่ อาคารฟิโก้ เพลส ย่านอโศกมนตรี เมื่อปี 2555 โดยต้นเพลิงอยู่ที่ชั้น 7 ทั้งนี้ ขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อรถคันดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 3 คัน โดยอาจจะมาประจำการรวม 4 จุด โดยใช้เงินซื้อคันละ 160 ล้านบาท
หลังจากหัวหน้าสถานีดับเพลิงสามเสน เอื้อเฟื้อข้อมูลของ "รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง" แล้ว เรายังได้พบกับ 2 นักสู้ไฟ ที่ได้ปฏิบัติงานที่ตึก SCB ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ 2 นาย คือ นายนพดล ฟักเย็น และนายจักรพงศ์ ฟักเย็น สองพี่น้อง พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชำนาญงาน สถานีดับเพลิงสามเสน มาเล่านาทีช่วยดับไฟที่ตึกสูง โดยใช้รถกระเช้าคันนี้ให้ฟัง
2 นักผจญเพลิง VS กระจกสุดแกร่ง 
"เราใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อไปถึงก็ต้องหาที่กาง (ตัวรถจะมีจุดกางขาเพื่อให้ฐานมั่นคง เวลาใช้งานจะได้ไม่สั่น) ซึ่งตรงจุดเกิดเหตุเลยกางไม่ได้ จึงได้ขยับไปอีกนิดหนึ่ง เมื่อกางได้ ก็ได้นำคนขึ้นไปเพื่อฉีดน้ำ โดยกระเช้านี้สามารถบรรจุคนขึ้นไปได้ครั้งละ 4 คนเท่านั้น โดยมีคนควบคุมอยู่ตรงนั้น 1 คน เมื่อขึ้นไปถึงพบว่ากระจกด้านที่กระเช้าไปถึงยังไม่แตก ส่วนที่แตกจะเป็นส่วนอื่น ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามทำลายกระจก ผมใช้หัวดับเพลิงซึ่งเป็นเหล็กพยายามฟาด ฟาดเท่าไรก็ไม่แตก เพื่อนที่อยู่ด้วย บอก "เฮ้ย...นี่มันกระจก หรือหินวะ" เราใช้ความพยายามอยู่นาน ทั้งฟาด ทั้งถีบ ก็แม่แตก วิธีการคือ พยายามฟาดที่ด้านบนของกระจก เวลาแตกจะได้ไม่ตกใส่ตัว ใช้น้ำยิงไปก็ยังไม่แตก ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นกระจกธรรมดา ก็คงแตกไปแล้ว แต่กระจกแข็งมาก ทั้งฟาด ทั้งใช้น้ำยิง สุดท้ายก็แตกจนได้" 2 นักผจญเพลิง เล่าให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฟังอย่างออกรส 
2 พี่น้องคุมรถกระเช้า
กระจกแกร่งปราชัย รถกระเช้าหอน้ำดับเพลิงใช้สนับสนุน
นายนพดล เล่าต่อว่า เมื่อกระจกแตก ควันไฟก็พวยพุ่งออกมา ทีแรกไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันควัน เพราะคิดว่าอยู่ด้านนอก แต่เมื่อโดนดังนั้นจึงต้องหยิบมาใส่ จากนั้นได้ลงมารับทีมดับเพลิง ซึ่งทีมแรกที่ขึ้นไป คือ คือทีมพี่เอ็กซ์ สุทธิสาร (นายจักรกฤษณ์​ คงคำ) ส่งขึ้นไป 3 คน หลังจากส่งเสร็จ ทีแรกจะตัดสินใจเข้าไปเอง แต่ปัญหาคือ มีแค่ 2 คนที่บังคับรถกระเช้าคันนี้ได้ จึงตัดสินใจช่วยบังคับกระเช้าช่วยสนับสนุนดีกว่า
"เข้าใจว่าอาคารนี้เป็นอาคารพิเศษ แต่ปัญหาก็คือ ระบบระบายอากาศตรงบันไดหนีไฟไม่ทำงาน ทำให้ควันเข้ามาเยอะ เป็นเหตุผลหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เข้าไปในอาคารไม่ได้ จึงต้องใช้กระเช้า เราก็ส่งเขาเข้าไปได้ครั้งละ 3 คนเท่านั้น เพราะกระเช้า สามารถบรรทุกคนได้แค่ 4 คน ซึ่งต้องมีคนดูแลกระเช้า 1 คน หลังจากขึ้นไปแล้ว ก็ลงไม่ได้ เพราะต้องสนับสนุนน้ำให้ เพราะเวลาใช้น้ำอยู่จะขยับไม่ได้ พออากาศหมดก็ลงมา ขึ้นลงแบบนี้ประมาณ 10 กว่ารอบ จนกระทั่งทำสำเร็จ" นายจักรพงศ์ กล่าว 
แสงเพลิงไหม้อย่างรุนแรง
ใช้งานไม่เป็น กระเช้าค้าง ติดแหงกที่ความสูง 90 เมตร 2-3 ชม.
สุดท้าย สองนักผจญเพลิง ได้เล่าประสบการณ์การใช้งานตัวรถกระเช้าหอน้ำดับเพลิง ทิ้งท้ายแบบติดตลกว่า "ตอนที่รถคันนี้มาแรก ๆ มีเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ดูแลรถ ได้นำรถมาลองใช้ โดยขึ้นไปบนกระเช้าและยืดสูงสุดที่ 90 เมตร ปรากฎว่าเกิดอาการค้าง เอากระเช้าลงมาไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง คิดจะโทรหา จส.100 ให้มาช่วย หรือ จะให้ ฮ. ส่งเชือกมารับ หลังจากติดอยู่นาน สุดท้ายก็เลยโทรไปหาฝรั่ง บริษัทที่ผลิตรถแนะนำวิธีเอาลง กระทั่งลงมาได้โดยรวมเวลาติดอยู่บนนั้น 2-3 ชม."
นี่คือเรื่องราวของสกู๊ปซีรีส์ "ต่อจิ๊กซอว์เพลิง SCB" ซึ่งเนื้อหาทั้งหมด คือเรื่องราวของนักผจญเพลิง อาชีพเสียสละ ที่ทิ้งสัญชาตญาณเอาตัวรอด แล้ววิ่งเข้าหาเปลวเพลิง ควันไฟ เพื่อหวังช่วยผู้คนในยามที่ไม่เหลือใคร...แต่ขอให้รู้ว่าพวกเขายังอยู่! 

ที่มา   http://www.thairath.co.th/content/481044

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น